KKP มุ่งต่อยอด 3 แกนหลักธุรกิจ ธนาคาร-เวลธ์-วาณิชธนกิจ รองรับพัฒนาการตลาดการเงินยุคใหม่ พร้อมคุมคุณภาพสินเชื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

KKP มุ่งต่อยอด 3 แกนหลักธุรกิจ ธนาคาร-เวลธ์-วาณิชธนกิจ
รองรับพัฒนาการตลาดการเงินยุคใหม่ พร้อมคุมคุณภาพสินเชื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

(31 มกราคม 2567) กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 มุ่งสามแกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รักษาการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล เดินหน้ายกระดับการให้บริการทัดเทียมสากล ธุรกิจวาณิชธนกิจ ใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม สนับสนุนความสมดุลของแหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ

สำหรับผลประกอบการสำหรับปี 2566 กำไรของกลุ่มธุรกิจฯ ปรับลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม ช่องทางการให้บริการดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจ เช่น Dime และ Digital Edge มีการขยายฐานลูกค้ารวมกว่า 700,000 ดาวน์โหลด ด้านธุรกิจจัดการกองทุนรวม มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าอัตราการเติบโตสินเชื่อรวมไว้ที่ร้อยละ 3

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2567 ว่า “แนวโน้มทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อของธนาคาร ดังนั้น กลุ่มธุรกิจฯ จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจบนสามแกนหลัก คือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งจากหลายช่องทาง และมีความยืดหยุ่นรองรับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และกฎระเบียบ ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเป็นฐานของรายได้ที่เติบโตตามขนาดของ Balance Sheet ดังนั้น จึงต้องมุ่งระดมเงินฝากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขยายสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ จะมุ่งยกระดับการให้บริการให้ทัดเทียมสากล เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ที่เป็นการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ”

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr.Philip Chen Chong Tan, President, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) กล่าวว่า“สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 2566 กำไรปรับลดลงจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของราคารถยนต์ ดังนั้น การดำเนินการของธนาคารจึงมุ่งเน้นการจัดการและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น พร้อมกับขยายสัดส่วนตลาดที่เครดิตมีคุณภาพดีผ่านสินเชื่อรถแลกเงิน ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายการเติบโตสินเชื่อรวมที่อัตราร้อยละ 3 ภายใต้การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขยายผลจากแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจฯ อย่าง Digital Edge และ Dime เพื่อการเข้าถึงและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า”

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Preecha Techarungchaikul, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2566 ว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,443 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.4 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 5,452 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,078 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,119 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2566 ได้มีการพิจารณาตั้งสำรองส่วนเพิ่มเป็นจำนวนประมาณ 600 ล้านบาท ตามหลักความระมัดระวังสำหรับสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นปี 2566 อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 164.6 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 22,294 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 6,469 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 23.5 จากปี 2565 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 16.2 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 12.8”
KKP ชี้ 4 เทรนด์ปี 2024 ส่อนัยเศรษฐกิจไทยถึงจุดพลิกผัน
ต้องเร่งหาฉันทามติสำหรับเดินหน้าต่อ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2024 มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 4 ประเด็น
1. เศรษฐกิจโลกกำลังจะเติบโตสวนทางกัน (Growth divergence) เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีทิศทางชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาที่จะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับเผชิญกับปัญหาชะลอตัว
2. อัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดสูงสุดและเริ่มปรับตัวลดลง เงินเฟ้อโลกเริ่มปรับลดลง ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีความแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากไม่ได้นัก
3. การเมืองระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่มีความไม่แน่นอน และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะสงคราม และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
4. เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวช้าและจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นยังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีนี้ ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 2.5% เกือบตลอดทั้งปี แต่มีโอกาสปรับลดลงได้หากการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ หรือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้
นอกจากประเด็นระยะสั้นแล้ว ยังมีปัญหาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเมื่อผ่านไปเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามปกติ แต่หลังจากผ่านวิกฤตมาประมาณ 2 ปี เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับที่เดิม และฟื้นตัวได้ได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญก่อนโควิด-19 ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปได้ที่จุดเดิมจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป ขณะที่การส่งออกที่เดิมไทยเคยอาศัยห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างจีนเป็นประตูสู่ตลาดโลก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลัง ไทยทั้งไม่สามารถขยายตัวในห่วงโซ่อุปทานโลก และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสินค้าหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมกันนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศยังมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาสังคมสูงอายุและกำลังแรงงานที่กำลังถดถอย ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่สะสมมาตลอดหลายทศวรรษ และการลงทุนที่หายไปเกือบ 30 ปีหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกว่ามาถึงจุดพลิกผัน สิ่งที่สำคัญกว่าอาจจะไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไรหรือจะแก้ไขอย่างไร แต่อาจจะเป็นการหาฉันทามติร่วมกันของสังคมว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร และเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลา อาจจะหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผล”
กรณีตัวอย่างเช่นการปฏิรูปเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคของนายชินโสะ อะเบะ นายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2006-07 และ 2012-20 ที่นำเสนอนโยบาย “ลูกศร 3 ดอก” ที่เน้นไปที่นโยบายการเงิน นโยบายการคลังที่เน้นการสร้างความเชื่อมั่น และการนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งด้านตลาดแรงงาน การเกษตร การกำกับดูแลบริษัท ด้านกฎระเบียบต่างๆ การแข่งขันของเอกชน การขึ้นภาษีบริโภค และการนำญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลงการค้า กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัว โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว นายกอะเบะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจหลายครั้ง เพื่อสร้าง “ฉันทามติทางการเมือง” เพราะมีคนทั้งได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์นโยบายปฏิรูป

May be a graphic of map and text

เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
ธนกร จ๋วงพานิช (จ๋วง)
โทร. 084 0070894
อีเมล์ tanakorn.juan@kkpfg.com

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*